ตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีม่วง หรือรถไฟฟ้า สายฉลองรัชธรรม เปิดให้บริการ มีจำนวนผู้โดยสารที่ค่อนข้างน้อย ทำให้ทาง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ได้มีการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงลง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านลดค่าครองชีพ รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ทางเลือกการเดินทางนี้มากขึ้น
ขยายเวลาลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง
มาตรการลดอัตราค่าโดยสารของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง เริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ 2562 โดยราคาปกติเริ่มต้นที่ 14 บาท และสูงสุด 42 บาท ตามมาตรการนี้ อัตราสูงสุดอยู่ที่ 20 บาท ทำให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าโดยสารได้สูงสุดกว่าครึ่งหนึ่ง
ถึงแม้ว่าผลตอบรับมาตรการนี้จะไม่ได้ดีเท่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น 17-20% ซึ่งหนึ่งในสาเหตุอาจมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้มีการปิดสถานที่ต่าง ๆ และทำงานจากที่บ้าน ทำให้ประชาชนเดินทางน้อยลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รฟม.ก็ได้มีมติให้ขยายเวลาลดค่าโดยสารต่อไป เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเดิมทีมาตรการจะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 ให้ขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
มาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ทำให้รายได้ของรฟม.ลดลงประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน โดยทางรฟม.ได้นำเงินสำรองมาอุดหนุนส่วนต่างรายได้ ทำให้จำนวนเงินสำรองที่จากเดิมมีจำนวน 500 ล้านบาท ลดเหลือ 160 ล้านบาท
จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าลดลง
ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000 คนต่อวัน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 จำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยลดลงเหลือ 40,000 คนต่อวัน
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเองก็เช่นกัน ผู้โดยสารจากเดิมที่มีเฉลี่ย 4-5 แสนคนต่อวัน ลดเหลือเฉลี่ยประมาณ 3 แสนคนต่อวัน ส่งผลให้การออกตั๋วเดือนต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากการคำนวณอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยไม่สามารถทำได้